เมื่อพูดถึง “วัฒนธรรมไทย” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง “ศิลปะการแสดงของไทย” เช่น โขน ละคร ลิเกหรือการฟ้อนรำต่างๆทันที ทั้งนี้ เพราะการแสดงดังกล่าวมีรูปธรรมที่เห็นเด่นชัด สัมผัสได้ อย่างไรก็ดี การแสดงแต่ละอย่างจะต่างกันอย่างไร เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจึงขอนำสาระบางส่วนจากหนังสือ “ศิลปะการแสดงของไทย และจากเรื่อง“นาฏศิลป์ไทย” ในหนังสือ “เทอดทัดหัตถา” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ของสวช.มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
มูลเหตุแห่งการเกิดศิลปะการแสดงของไทย สันนิษฐานว่ามาจาก ๒ สาเหตุ คือ
๑.เกิดจากพื้นฐานอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์ เช่น ดีใจก็กระโดดโลดเต้น เสียใจก็ร้องไห้คร่ำครวญ ต่อมาจึงได้พัฒนาอารมณ์ต่างๆเหล่านี้ให้เป็นพื้นฐานการแสดงในที่สุด
๒.เกิดจากความเชื่อทางศาสนา เช่น เชื่อว่าสรรพสิ่งรอบตัวในธรรมชาติมีอำนาจเร้นลับแฝงอยู่ สามารถดลบันดาลให้
เกิดเหตุการณ์ต่างๆได้ และต่อมาได้พัฒนาเป็นความเชื่อในเทพเจ้า จึงมีการสวดอ้อนวอนขอธรรมชาติหรือเทพเจ้าให้
ประทานความสำเร็จให้ด้วยการถวายอาหาร หรือการร่ายรำเพื่อบวงสรวงบูชา และได้กลายมาเป็นต้นแบบของการสวดอ้อนวอน การขับร้องดนตรี และการฟ้อนรำในเวลาต่อมา
อนึ่ง รูปแบบศิลปะการแสดงของไทย นั้นได้มีพัฒนาการมาโดยลำดับทั้งในแนวของ”ศิลปะพื้นบ้าน”หรือการแสดงพื้นบ้าน เช่น รำ ระบำและละครบางประเภท กับอีกแนวหนึ่งคือ ศิลปะการแสดงที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ที่เรียกกันว่า “ศิลปะในราชสำนัก” หรือการแสดงในราชสำนัก อันเป็นที่มาของรูปแบบนาฏศิลป์ประเภทโขน รำ ระบำ และละครที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
สำหรับรูปแบบและความหมายของการแสดงแต่ละประเภท มีดังนี้
รำและระบำ คำว่า “รำ”โดยทั่วไปจะหมายถึง การแสดงที่ประกอบด้วยผู้แสดงคนเดียว เรียกว่า รำเดี่ยว หรือถ้าเป็นผู้แสดงสองคน เรียก รำคู่ แต่มีรำบางชนิดที่มีผู้แสดงมากกว่า ๒ คน แต่ยังเรียกว่า รำ เช่น รำสีนวล รำแม่บท ฯลฯ (ที่ยังเรียกว่ารำ มิใช่ระบำ ก็เพราะว่าเป็นการตัดทอนมาจากละคร และเคยเป็นการรำเดี่ยวมาก่อน แม้จะรำเป็นหมู่ภายหลังก็ยังเรียกอย่างเดิม ) จุดประสงค์ของการ “รำ”คือ เพื่อแสดงความงดงาม การเคลื่อนไหวของผู้แสดงที่สอดประสานกับเพลงดนตรี แต่ไม่มุ่งเน้นในเนื้อเรื่องการแสดง ตัวอย่างเช่น รำดอกไม้เงินทอง รำฉุยฉาย รำกริช เป็นต้น
ส่วนคำว่า “ระบำ” ในปัจจุบัน หมายถึง การแสดงที่ประกอบด้วยผู้แสดงมากกว่า ๒ คนขึ้นไป มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความงดงาม ความพร้อมเพรียง การแปรแถวในขณะแสดง ประกอบกับการแต่งกาย และเพลงดนตรีที่ไพเราะ เช่น ระบำนพรัตน์ ระบำฉิ่ง ระบำศรีวิชัย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การแสดงรำและระบำ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในเรื่อง แต่ด้วยความงดงามดังกล่าว จึงมีการตัดทอนมาใช้เป็นชุดการแสดงที่เป็นเอกเทศก็ได้ การแต่งกายของการรำ หรือระบำ แต่เดิมแต่งยืนเครื่องพระนาง (ยืนเครื่อง หมายถึง การแต่งกายเลียนแบบเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์) ส่วนปัจจุบันระบำแบบใหม่ๆได้มีการแต่งกายตามสภาพหรือแต่งกายตามรูปแบบการแสดงละครประเภทนั้นๆ
ละคร หมายถึง การแสดงที่เป็นเรื่องราวติดต่อกัน ใช้เวลาตั้งแต่ ๒-๔ ชม. ปัจจุบันนิยมกำหนดให้เหลือเพียง ๑-๒ ชม.เป็นอย่างมาก และยังอาจตัดทอนให้สั้นลง โดยเลือกแสดงในฉากใดฉากหนึ่งในระยะเวลา ๓๐-๔๕ นาทีก็ได้
ศิลปะการแสดงของไทย ที่ยังได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ละครรำ ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ได้แก่
ละครโนรา เป็นศิลปะการแสดงของภาคใต้ เดิมนิยมใช้ผู้ชายล้วนแสดง แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าไปแสดงด้วยแล้ว นิยมแสดงเรื่อง นางมโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ชาวไทยภาคใต้
ละครชาตรี เป็นศิลปะการแสดงที่พัฒนามาจากละครโนรา และละครนอก เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในระดับชาวบ้าน ต่อมากรมศิลปากรได้นำละครชาตรีเรื่องพระสุธนกับนางมโนราห์มาปรับปรุงรูปแบบเป็นละครชาตรีเข้าเครื่องหรือละครชาตรีเครื่องใหญ่ จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฉากมโนราห์บูชายัญ และพรานบุณจับนางมโนราห์ (คำว่า “ชาตรี”เป็นคำที่คน ภาคกลางเรียกการแสดง “โนรา” ที่ดัดแปลงมา บางครั้งก็เรียกควบว่า “โนราชาตรี” แต่เพิ่มเรื่องที่แสดงมากขึ้นไม่เฉพาะแต่เรื่องมโนราห์เท่านั้น และผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นชาย ส่วนคำว่า “เข้าเครื่อง” หรือ เครื่องใหญ่หมายถึงการเพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปจากเดิมอันเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง)
ละครนอก เป็นศิลปะการแสดงที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากละครโนรา เป็นละครที่มุ่งเน้นการดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน รวดเร็ว ตลกขบขัน กล่าวได้ว่าเป็นละครชาวบ้านอย่างแท้จริง เดิมใช้ผู้ชายล้วนแสดง ปัจจุบันก็มีผู้หญิงแสดงด้วย
ละครใน เป็นศิลปะการแสดงประเภทละครรำที่งดงามที่สุด โดยเฉพาะรูปแบบของละครหลวง ซึ่งมีความประณีตทั้งท่ารำ บทร้อง การแต่งกาย และเพลงดนตรี ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน แต่เดิมแสดงเพียง ๓ เรื่องเท่านั้น คือ เรื่องอิเหนา อุณรุท และรามเกียรติ์ ต่อมาได้เพิ่มเรื่อง ศกุนตลา บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เข้าไปด้วย คำว่า ละครใน มาจากคำว่าละครนางใน คือ ใช้ผู้แสดงที่เป็นผู้หญิงในราชสำนักนั่นเอง
ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครรำอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งปรับปรุงขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นการแสดงที่ผู้แสดงต้องร้องเอง รำเอง และเจรจาเอง เป็นละครที่เริ่มมีฉากตามสถานที่ในท้องเรื่อง การแต่งกายเป็นไปตามแบบละครใน ที่เรียกว่า ละครดึกดำบรรพ์เนื่องจาก คำนี้เป็นชื่อโรงละคร ซึ่งสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ปรับปรุงการแสดงละครขึ้นใหม่และนำออกแสดงในงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองครั้งแรก ต่อมาแสดงแบบนี้ครั้งใดก็เรียกตามชื่อโรงละครว่าละครดึกดำบรรพ์
ละครพันทาง เป็นประเภทละครรำในแนวละครนอก คือ มีการร่ายรำที่งดงาม เพลงดนตรีและเครื่องแต่งกายมีการปรับเปลี่ยนไปตามเชื้อชาติตัวละคร การดำเนินเรื่องรวดเร็ว สนุกสนาน เป็นละครที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงปรับปรุงขึ้นจากการแสดงละครของพระยามหินทรศักดิ์ธำรง และนิยมนำเนื้อเรื่องในพงศาวดารมาเป็นบทละคร เช่น ราชาธิราช สามก๊ก เป็นต้น
ละครเสภา เป็นศิลปะการแสดงประเภทละครำในแนวละครนอกเช่นกัน โดยเพิ่มการขับเสภาให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง นิยมแสดงเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน
ที่มา : http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=1622
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น